คลังเก็บบล็อก

การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)

…….พอดีผมมีโอกาสได้ไปเป็นวิทยากรอบรมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ในการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคิด (Flipped Classroom) ณ โรงเรียนิคมวิทยา อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2557 ก็เลยอยากนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเล่าให้ท่านที่สนใจ ได้นำแนวคิดไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนลองดูนะครับ

จุดเริ่มต้นและความเป็นมา
……. Jonathan Bergmann และ Aaron Sams ซึ่งพวกเขาเป็นครูวิชาเคมีของโรงเรียน Woodland Park High School รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เขียนหนังสือที่ชื่อ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day ขึ้น Ffpครู 2 ท่านนี้ได้พบว่าการเรียนของนักเรียนหลาย ๆ คนไม่สามารถเข้ามาเรียนในชั้นเรียนได้ตามเวลาอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายๆประการ เช่น นักเรียนที่เป็นนักกีฬา นักเรียนที่ต้องทำงานนอกเวลา หรือกิจกรรมต่างที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง หรือแม้กระทั้งเนื้อหาวิชาที่ใช้เวลาในการทำความเข้าใจมาก ๆ  จนไม่สามารถจัดได้หมดในชั่วโมงเรียนดังนั้น Jonathan และAaron จึงมีแนวคิดจาก
……..1. พิจารณาเลือกเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กับนักเรียน และนักเรียนสามารถนำขึ้นมาเรียนได้ขณะเดินทางทาง หรือในเวลาว่างจากอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ที่นักเรียนมี เช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน, หรือแล็บท็อป นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน
…….2. โดยมีกิจกรรมต่างๆ เป็นตัวเชื่อม เช่น อีเมล์จากนักเรียนที่มีข้อสงสัย อีเมล์จากครูผู้สอนตั้งคำถามไปยังนักเรียน  บทความหรือเนื้อหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่อยู่บนเว็บไซด์

กลับด้านชั้นเรียนคืออะไร
…….นำสิ่งที่เดิมเคยทำในชั้นเรียนไปทำที่บ้าน และนำสิ่งที่เคยถูกมอบหมายให้ทำที่บ้านมาทำในชั้นเรียนแทน ชั้นเรียนที่เราคุ้นเคยกันมานั้น ครูจะเป็นผู้บรรยายเนื้อหาต่างๆ ในชั้นเรียนแล้วมอบงานให้นักเรียนกลับไปทำเป็นการบ้าน แต่ Jonathan และ Aaron  สังเกตว่า เวลาที่นักเรียนต้องการพบครูจริงๆ คือ เวลาที่เขาติดขัดและต้องการความช่วยเหลือ เขาไม่ได้ต้องการครูอยู่ในชั้นเรียนเพื่อบอกเนื้อหา เพราะเขาสามารถค้นหาเนื้อหานั้นด้วยตนเองได้ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ปรับการให้ความสำคัญที่ครูไปสู่การเรียนรู้ของนักเรียน

มีการจัดการเรียนรู้อย่างไร
……. ครูอาจจะสร้างแหล่งเรียนรู้ (Resource Center) เช่น เว็บบล็อก (WordPress) เฟซบุ๊คกลุ่ม (Groups) หรือบันทึกวิดีโอการสอนให้เด็กไปดูเป็นการบ้าน แล้วครูใช้ชั้นเรียนสำหรับชี้แนะนักเรียนให้เข้าใจแก่นความรู้ หรือชี้แนะในการที่เด็กได้รับมอบหมายจะดีกว่า ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก เว็บไซต์ต่าง ๆ อย่าง YouTube อัดแน่นไปด้วยความรู้ต่างๆ เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หมดยุคที่ต้องคอยมารอรับความรู้ในชั้นเรียนเพียงช่องทางเดียว เพราะฉะนั้นในห้องเรียนกลับด้าน ครูจะแจกสื่อให้เด็กไปเรียนรู้ล่วงหน้าที่บ้าน หรืออาจให้เด็กไปดูสื่ออย่างยูทูบ เมื่อมาเข้าชั้นเรียนในวันรุ่งขึ้น นักเรียนจะซักถามข้อสงสัยต่างๆ จากนั้นก็ลงมือทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มโดยมีครูคอยให้คำแนะนำตอบข้อสงสัย

ข้อจำกัด-ข้อควรคำนึง ของการกลับด้านชั้นเรียน
…….เพื่อตรวจสอบว่า เด็กได้ดูสื่อที่ครูให้ไปเรียนรู้ล่วงหน้าหรือไม่นั้น จะมีเด็กบันทึกโน้ตมาส่งครู อาจบันทึกมาในสมุด เข้าไปเขียนไว้ใน Blog ของครู หรือเขียนส่งมาทางอีเมล และจะให้เด็กตั้งคำถามมาด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละรายวิชาจะมีข้อจำกัดและข้อควรคำนึง ดังนี้
ข้อจำกัด
…..1. ต้องมีการเตรียมการอย่างดี มีความเชื่อมโยงสัมพันธืกันทั้งเวลา เนื้อหา กิจกรรม
…..2. ต้องปรับค่านิยม คุ้นชิน และความเชื่อเดิม
…..3. ความพร้อมของเทคโนโลยีและสื่อที่ใช้
…..4. การปรับบทบาทครูและนักเรียน
ข้อควรคำนึง
…..1. วุฒิภาวะและความพร้อมของผู้เรียน
…..2. ความตั้งใจและกระตือรือร้นของครูผู้สอน
…..3. ความเหมาะสมของรายวิชา/บทเรียน
…..4. สื่อการเรียนการสอน
…..5. ความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้อง

นำมาปรับใช้ในบริบทของเราได้อย่างไร
…….เช่น การนำไปใช้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ จะช่วยให้มีเวลาและโอกาสมากขึ้นที่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดย Inquiry Approach ซึ่งนักเรียนจะได้ลงมือทำงานและปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้และได้ศึกษาทดลองที่ลึกซึ้งขึ้น ยกตัวอย่างเรื่อง เซลล์และการค้นพบเซลล์ เวลา 2 ชั่วโมง
…..1. ขั้นสร้างความสนใจ (ล่วงหน้าก่อนการเรียนการสอนในชั่วโมงจริง)
…….1.1 ครูสร้างบล็อก หรือตั้งกระทู้บนอินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นประเด็นในแง่มุมต่างๆ โดยตั้งกระทู้ถามนักเรียนว่าร่างกายของคนเราหรือสัตว์ประกอบขึ้นด้วยส่วนประกอบใดบ้าง และหน่วยที่เล็กที่สุดที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายคืออะไร
…….1.2 ครูควรเลือกสร้างสื่อ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องสำหรับสอนนักเรียนล่วงหน้าอาจเป็นคลิปวิดีโอเป็นเรื่องๆ สั้นๆ หรืออาจเป็นไฟล์สำหรับกดาว์นโหลดได้ หรือนำขึ้นไปฝากไว้บน YouTube  เนื้อหาเช่น ครูสาธิตการใช้กล้องจุลทรรศน์และอธิบายประเภท ส่วนประกอบ และวิธีการใช้กล้องจุลทรรศน์ให้นักเรียนเข้าใจในรูปแบบต่างๆ เช่นคลิปวิดีโอ
…….1.3 ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายในประเด็นต่างบนอินเทอร์เน็ตหรือทางสื่อต่าง ๆ ล่วงหน้าก่อนการเรียนในห้องเรียน เช่น Line, Facebook, ตามแต่ที่จะถนัด เช่น
…….– เซลล์คืออะไร
…….– นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเซลล์คนแรกเป็นใคร
…….– นักเรียนจะศึกษาลักษณะของเซลล์ได้อย่างไร
…….– ครูอภิปรายถึงการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการมองเห็น ได้แก่ แว่นขยายกล้องจุลทรรศน์ และกล้องโทรทรรศน์
…….– นักเรียนร่วมกันอภิปรายจำแนกรายละเอียดถึงความแตกต่างในการเลือกใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดังกล่าว
…….1.4 นักเรียนศึกษาค้นคว้า ส่วนประกอบและการใช้กล้องจุลทรรศน์ จากคลิปวิดีโอเรื่อง กล้องจุลทรรศน์ หรือจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ นักเรียนคิดและลำดับเหตุการณ์ขั้นตอนการใช้กล้องจุลทรรศน์ศึกษาสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
…..2.ขั้นที่ 2 สำรวจและค้นหา และขั้นที่ 3 อธิบายและลงข้อสรุป 2 ขั้นตอนนี้ครูสามารถให้นักเรียนคุยกันหรือวางแผนการทำงานร่วมกันมาจากที่บ้านล่วงหน้าก่อนการเรียนจริงในห้องเรียน
…..3. ขั้นขยายความรู้ ขั้นตอนนี้สามารถนำมาทำกิจกรรมในห้องเรียนได้เลยในทันที เต็มเวลา 2 ชั่วโมง ที่เข้าเรียนเพราะทุกขั้นตอนนักเรียนได้เรียนและศึกษามาทั้งหมดแล้ว

ข้อคิดสำหรับห้องเรียนกลับด้าน
…….วิดีโออาจใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการสอนบางเรื่อง แต่อาจจะไม่ได้ผลสำหรับการสอนบางเรื่อง ความรู้บางอย่างนักเรียนต้องค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง บางเรื่องครูต้องสอนโดยตรง บางเรื่องเกิดจากการซักถามอภิปราย วิดีโอจึงไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับการสอนทุกเรื่อง ครูผู้สอนต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

อ้างอิง
1. ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
2. ห้องเรียนกลับด้านของ สพฐ. โดย ดร.รุ่งนภา นุตราวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญของ สพฐ. 
3. ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) โดยนายอนุศร  หงษ์ขุนทด